อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

ประวัติความเป็นมา

                          เมื่อประมาณ 100 ปีที่แล้ว ราษฎรบ้านท่าด่านและบ้านท่าชัย จังหวัดนครนายก ได้บุกรุกถางป่าปลูกพริกปลูกข้าวบนเขาใหญ่ และจับจองพื้นที่
สร้างบ้านเรือนอาศัยอยู่บนเขาใหญ่ ประมาณ 30 หลังคาเรือน ต่อมาได้พัฒนายกฐานะเป็นตำบลเขาใหญ่ ขึ้นอยู่กับอำเภอปากพลี ทำให้เกิดการบุกรุกทำลายป่า
ทำไร่เลื่อนลอยเพิ่มขึ้นเรื่อย ต่อมากลายเป็นที่หลบซ่อนพักพิงของโจรผู้ร้าย และผู้ต้องหาที่หลบหนีคดีอาญาอยู่เนืองๆ เพราะการคมนาคมยากลำบากห่างไกลแหล่ง
ชุมชนอื่นๆ ยากแก่การตรวจปราบปราม ด้วยเหตุนี้ทางราชการในสมัยนั้นจึงยุบตำบลเขาใหญ่ และให้ราษฎรที่อาศัยอยู่บนเขาใหญ่อพยพลงสู่ที่ราบ หมู่บ้านและไร่ที่
ทำกินบริเวณป่าเขาใหญ่จึงถูกทิ้งร้างกลายสภาพเป็นทุ่งหญ้าคาสลับกับป่าที่อุดมสมบูรณ์

ในปี พ.ศ. 2502 ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปตรวจราชการทางภาคเหนือ เล็งเห็นถึงความสำคัญที่จะคุ้มครองรักษา
ธรรมชาติโดยเฉพาะป่าไม้ จึงได้ให้กระทรวงเกษตร และกระทรวงมหาดไทย ร่วมมือและประสานงานกันเพื่อจัดตั้งอุทยานแห่งชาติขึ้นในประเทศไทย ซึ่งคณะรัฐมนตรี
ได้มีมติการการประชุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2502 ให้กำหนดป่าเขาใหญ่ จังหวัดนครนายก จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดสระบุรี และป่าอื่นๆ ในท้องที่จังหวัด
ต่างๆ รวม 14 ป่า เป็นอุทยานแห่งชาติ จากนั้นกรมป่าไม้ได้เริ่มเตรียมการและวางแผนการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติขึ้น โดยได้รับความร่วมมือและช่วยเหลือจาก DR.GORE C.RUHLE ผู้เชี่ยวชาญทางด้านอุทยานแห่งชาติของสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) จากประเทศสหรัฐอเมริกา

                          เมื่อกรมป่าไม้ได้ดำเนินการสำรวจและวางแผนสำเร็จลงแล้ว จึงดำเนินการประกาศจัดตั้ง อุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกา
กำหนดบริเวณ ที่ดินป่าเขาใหญ่ในท้องที่ตำบลป่าขะ ตำบลบ้านพร้าว อำเภอบ้านนา ตำบลหนองแสง ตำบลนาหินลาด อำเภอปากพลี ตำบลสาริกา ตำบลหินตั้ง ตำบลพรหมณี
อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก ตำบลประจันตคาม อำเภอประจันตคาม ตำบลสัมพันตา ตำบลทุ่งโพธิ์ อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง
จังหวัดนครราชสีมา และตำบลหมวกเหล็ก ตำบลชำผักแพว อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 79
ตอนที่ 86 ลงวันที่ 18 กันยายน 2505 รวมเนื้อที่ 1,355,468.75 ไร่ หรือ 2,168.75 ตาราง กิโลเมตร นับเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย
และได้รับสมญานามว่าเป็น “ อุทยานมรดกของกลุ่มประเทศอาเซียน ” ตลอดจนเป็นที่ยอมรับทั่วไปว่าเป็นอุทยานแห่งชาติที่สำคัญของโลก

                          ต่อมากองทัพอากาศได้มีหนังสือ ที่ กษ 0379/15739 ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2519 ถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอกันพื้นที่ก่อสร้างสถานี
เรดาร์และสถานีถ่ายทดโทรคมนาคม ออกจากพื้นที่ อุทยานแห่งชาติ ซึ่งคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ได้มีมติในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2520 ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ ์
2520 เห็นชอบให้กันพื้นที่ส่วนดังกล่าวได้ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนอุทยานแห่งชาติป่าเขาใหญ่บางส่วน ในท้องที่ตำบลหินตั้ง อำเภอเมืองนครนายก
จังหวัดนครนายก ซึ่งลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 95 ตอนที่ 99 ลงวันที่ 21 กันยายน 2521 เป็นเนื้อที่ประมาณ 71 ไร่ 3 งาน 16 ตารางวา หรือ 0.1149 ตารางกิโลเมตร

                         กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอใช้พื้นที่บางส่วนในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ในท้องที่อำเภอปากพลี และอำเภอเมือง จังหวัดนครนายก
เนื้อที่ 1,925 ไร่ 1 งาน 73 ตารางวา หรือ 3.807 ตารางกิโลเมตร เพื่อก่อสร้างโครงการเขื่อนคลองท่าด่านอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อประโยชน์ในการจัดแหล่งเก็บ
กักน้ำใช้เพื่อการอุปโภคและบริโภค ตลอดจนการเพาะปลูกร่วมทั้งช่วยบรรเทาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในเขตจังหวัดนครนายก เป็นประจำทุกปี คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้
ทำการก่อสร้างโครงการเขื่อนคลองท่าด่านอันเนื่องจากพระราชดำริ กรมป่าไม้ จึงได้มี พระราชกฤษฎีกาเพิกถอนอุทยานแห่งชาติ ป่าเขาใหญ่บางส่วนในท้องที่ตำบลหินลาด
อำเภอปากพลี และตำบลหินตั้ง อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนที่ 119ก ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2542

ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.dnp.go.th/mfcd3/kaoyai.htm

By prinkfah